แฟลชไดร์ฟ 5 แบบ ที่ควรเลิกใช้ก่อนปี 2025

แฟลชไดร์ฟ 5 แบบ ที่ควรเลิกใช้ก่อนปี 2025

อย่างที่ทราบกันดีว่า “แฟลชไดร์ฟ” ถือได้ว่าเป็นแก็ดเจ็ตจัดเก็บข้อมูลที่มีผู้นิยมใช้งานในการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลในชีวิตประจำวันร่วมกับอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ มากที่สุดชิ้นนึง ไม่ว่าจะเป็นไฟล์งาน หรือไฟล์สื่อส่วนตัวต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน แฟลชไดร์ฟก็ได้ถูกใช้งานร่วมกับอุปกรณ์หลากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็ปท็อป สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมถึงอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ เช่น เครื่องเล่นสื่อ อุปกรณ์นำเสนองาน บรรดาแบรนด์ผู้ผลิตแฟลชไดร์ฟรายต่าง ๆ จึงได้มีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนสเปคสินค้าของตัวเองให้ทันยุคทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานอยู่เรื่อย ๆ และยังมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นอย่างเช่น RECYCLE USB, PEN USB เป็นต้นแต่ขณะเดียวก็ยังคงมีแบรนด์ผู้ผลิตบางรายที่พยายามป้อนสินค้าที่ดูจะมีสเปคที่ตกยุค ไม่ตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบันเข้ามาในตลาดเรื่อยๆเช่นกัน โดยที่อาศัยกลยุทธ์ด้านราคาในการดึงดูดผู้ใช้งานให้ตัดสินใจซื้อสินค้าของตัวเอง ในบทความนี้จึงจะพากันมาเช็คลิสต์ 5 สเปคของแฟลชไดร์ฟที่ผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานก่อนปี 2025 เพราะนอกจากจะไม่ตอบโจทย์การใช้งานแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งปัญหาจุกจิกต่าง ๆ มาบอกกล่าวให้ได้ทราบกัน

แฟลชไดร์ฟที่ใช้ USB เวอร์ชั่นต่ำกว่า  3.0 ลงไป สเปคแรกที่ต้องบอกว่าเตรียมตกยุคอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2025 ก็คือ เวอร์ชั่น USB ที่ต่ำกว่า 3.0 ลงไป หรือก็คือ USB เวอร์ชั่น 2 นั่นเอง เนื่องจากประสิทธิภาพความเร็วในการรับส่งข้อมูลของพอร์ต USB เวอร์ชั่น 3 และเวอร์ชั่น 2 นั้นแตกต่างกันอยู่พอสมควร ขณะเดียวกันขนาดไฟล์ดิจิทัลต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การใช้งาน USB เวอร์ชั่น 2 ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ดีเท่าที่ควร

ไม่มีพอร์ต USB-C สเปคต่อมาที่ถือว่าเป็นสเปคบังคับในปี 2025 แน่ ๆ ก็คือ พอร์ต USB-C นั่นเอง แม้ว่าปัจจุบันเราจะยังสามารถใช้งานแฟลชไดร์ฟที่มีพอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB-A ร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้ปกติ แต่อย่างที่ทราบกันว่าอุปกรณ์รุ่นใหม่ ๆ ล้วนมาพร้อมกับพอร์ตแบบ USB-C และในปี 2025 ก็มีแนวโน้มที่พอร์ต USB-C จะถูกนำมาใช้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ มากขึ้นอีก รวมถึงอาจถูกใช้ทดแทน USB-A ในอุปกรณ์อย่างแล็ปท็อปด้วย

ความจุต่ำกว่า 16GB สเปคต่อมาที่ต้องบอกว่าอาจจะไม่เหมาะที่จะใช้ในปี 2025 แล้วเช่นกันก็คือ แฟลชไดร์ฟที่มีขนาดความจุต่ำกว่า 16GB นั่นเอง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าไลฟ์สไตล์การใช้งานข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ ของผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ นั้นมีแนวโน้มเติบโตขึ้นตลอดเวลา ปริมาณข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยน และใช้งานในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันขนาดไฟล์ดิจิทัลก็มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน อีกทั้งยังมีไฟล์ชนิดใหม่ๆ เพิ่มมาตลอดด้วยเช่นกัน ขนาดความจุที่น้อยกว่า 16GB จึงดูจะไม่เพียงพอสำหรับความต้องการในการจัดเก็บ แบ็คอัพข้อมูลของผู้ใช้งานส่วนใหญ่แล้ว

ไม่มีซอฟท์แวร์จัดการไฟล์ของตัวเอง สเปคอีกส่วนที่น่าจะเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับแก็ดเจ็ตจัดเก็บข้อมูลอย่างแฟลชไดร์ฟในปี 2025 ก็คือ ซอฟท์แวร์จัดการไฟล์ของตัวเองสำหรับใช้งานควบคู่กันเมื่อทำการเชื่อมต่อแฟลชไดร์ฟเข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ นั่นเอง ทั้งนี้อย่างที่ทราบกันว่าในการใช้งานแฟลชไดร์ฟในปัจจุบันนี้มีความแตกต่างกับการใช้งานในยุคก่อน ๆ ตรงที่ ผู้ใช้งานได้นำไปใช้งานกับอุปกรณ์หลายแพลตฟอร์ม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงบนคอมพิวเตอร์เท่านั้น แบรนด์ผู้ผลิตเจ้าดัง ๆ จึงได้มีการพัฒนาซอฟท์แวร์จัดการไฟล์ของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานร่วมกับหลายแพลตฟอร์มได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ดังนั้นเพื่อความสะดวก ป้องกันปัญหาจุกจิกต่าง ๆ ผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ จึงควรหลีกเลี่ยงแบรนด์ที่ไม่มีซอฟท์แวร์จัดการไฟล์ของตัวเอง

ไม่มีระบบรับประกัน เรื่องต่อมาอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่ก็นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ผู้ใช้งานควรใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกหาแฟลชไดร์ฟสักอันมาไว้ใช้งาน ซึ่งก็คือ ระบบรับประกันนั่นเอง เนื่องจากแฟลชไดร์ฟถือเป็นแก็ดเจ็ตที่เกิดปัญหาชำรุดเสียหายที่ตัวฮาร์ดแวร์ได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าจากแบรนด์ผู้ผลิตรายเล็ก ๆ ดังนั้นอย่างน้อยจึงควรมีระบบรับประกันให้เราสามารถเปลี่ยน หรือคืนสินค้าได้หากเกิดการชำรุด เสียหายก่อนอายุการใช้งานที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ การเลือกแฟลชไดร์ฟที่มี PACKAGE ที่เหมาะสมยังช่วยเสริมความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิผล

 

 

Leave Comment