ไฟล์ 5 ประเภท ที่ไม่ควรบันทึกลงในแฟลชไดร์ฟ
แฟลชไดร์ฟในปัจจุบันมีหลายแบบมากมายอย่างเช่น Metal Usb, Wooden Uab, Twister Usb เป็นต้น และเป็นที่ทราบกันดีว่าแฟลชไดร์ฟ ถือเป็นแก็ดเจ็ตชิ้นนึงที่อำนวยความสะดวกในการใช้งานอุปกรณ์ไอทีให้กับผู้ใช้งานหลายคน ทั้งการโอนถ่ายไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างอุปกรณ์ การคัดลอกและสำรองข้อมูล หรือกระทั่งใช้เป็นตัวบูตสำหรับติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์ให้กับอุปกรณ์ เรียกว่าเป็นแก็ดเจ็ตที่ช่วยให้กิจกรรมการทำงาน การเรียนของหลายคนลื่นไหล ต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันการใช้งานแฟลชไดร์ฟในชีวิตประจำวันสำหรับหลายคนก็ตามมาด้วยความเสี่ยงหลายประการเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ระมัดระวังในการตรวจสอบ คัดกรองไฟล์ที่จะบันทึกลงบนไดร์ฟให้ดี ก็มักจะนำมาซึ่งปัญหาไฟล์ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้บนแฟลชไดร์ฟตัวนั้น ๆ เสียหาย ไม่สามารถเข้าถึงหรือเปิดไฟล์ใด ๆ ที่อยู่บนไดร์ฟได้ หรืออาจถึงขั้นทำให้ซอฟต์แวร์บางส่วนบนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อแฟลชไดร์ฟอยู่ได้รับความเสียหายไปด้วย ในบทความนี้จึงได้นำเอาไฟล์ 5 ประเภท ที่ควรหลีกเลี่ยงการบันทึกลงในแฟลชไดร์ฟ เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาในการใช้งานต่าง ๆ ทั้งในแง่ความปลอดภัยของไฟล์ข้อมูลที่มีอยู่และการถูกโจรกรรมโดยบุคคลภายนอกมาแนะนำบอกกล่าวให้ผู้ใช้งานได้ใช้เป็นแนวทางในการตรวจเช็คและคัดกรองไฟล์ที่จะบันทึกลงบนไดร์ฟกัน
ไฟล์ .exe ไฟล์ประเภทแรกที่ต้องบอกว่าไม่ควรบันทึกลงบนแฟลชไดร์ฟของเรา หากไม่จำเป็นก็คือไฟล์ที่มีนามสกุลต่อท้ายเป็น .exe นั่นเอง เนื่องจากไฟล์ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นไฟล์ที่มีโปรแกรม ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่พร้อมรันการทำงานทันที หากว่าเราไปคลิกที่ตัวไฟล์ พูดง่าย ๆ ก็คือไฟล์อาจทำอะไรกับอุปกรณ์ของเราก็ได้ตามคำสั่งที่ถูกเขียนไว้ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรม ซอฟต์แวร์ใด ๆ ก็ไม่ควรมีการบันทึกไฟล์ .exe ไว้บนไดร์ฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นไฟล์ที่ดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ต หรือถูกส่งต่อ ๆ กันมาโดยไม่ทราบแหล่งที่มาดั้งเดิมของตัวไฟล์
ไฟล์ .apk ไฟล์ประเภทต่อมาที่ควรระมัดระวังในการบันทึกลงแฟลชไดร์ฟก็คือ ไฟล์ .apk หรือ Android Package Kit ซึ่งก็คือไฟล์ติดตั้งแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ หรือระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์พกพาอื่นๆ ที่เข้ากันได้ ทั้งนี้หากตรวจเช็คโดยผิวเผินผู้ใช้งานบางคนอาจมองว่าไฟล์ดังกล่าวไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร เพราะเป็นไฟล์แอปพลิเคชั่นสำหรับอุปกรณ์ระบบแอนดรอยด์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ในการใช้งานทั่วไป ผู้ใช้งานมักไม่ได้มีความจำเป็นต้องดาวน์โหลดไฟล์ .apk สักเท่าไหร่ เพราะสามารถเลือกดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ บน Play Store ได้อยู่แล้ว อีกทั้งไฟล์ .apk ที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้นก็ถูกสร้างมาจากหลายแหล่ง ทั้งผู้พัฒนาที่เชื่อถือได้ และเชื่อถือไม่ได้ จึงถือเป็นความเสี่ยงของผู้ใช้งานที่อาจจะได้ซอฟต์แวร์แอบแฝงติดมากับไฟล์เหล่านี้ด้วย
ไฟล์ที่มีนามสกุลที่ไม่คุ้น โดยทั่วไปแล้วในการใช้งานอุปกรณ์ไอทีสำหรับกิจกรรมการเรียน การทำงานในชีวิตประจำวัน ผู้ใช้งานหลายคนมักมีประเภทของไฟล์ต่าง ๆ ที่คุ้นเคยกับการใช้งาน หรือบันทึกจัดเก็บเป็นประจำอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นไฟล์เอกสาร .docx, .pdf ไฟล์รูปภาพ .jpg, .png หรือไฟล์สื่อมีเดียอย่าง .mp4, mpg เป็นต้น ซึ่งนามสกุลไฟล์ดังกล่าวที่เราคุ้นเคยนี่เองสามารถเป็นจุดสังเกตในการคัดกรองไฟล์ที่ปลอดภัยได้ในระดับนึง โดยควรหลีกเลี่ยงการบันทึกไฟล์ที่มีนามสกุลต่อท้ายที่เราไม่คุ้นเคยลงบนแฟลชไดร์ฟ เพราะอาจเสี่ยงเจอกับไฟล์ที่มาพร้อมกับไวรัส มัลแวร์ต่าง ๆ ได้
ไฟล์ทุกชนิดที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ไฟล์อีกหนึ่งประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงการบันทึกลงบนแฟลชไดร์ฟโดยเด็ดขาดเช่นกันก็คือ ไฟล์ทุกชนิดที่เราไม่ทราบแหล่งที่มานั่นเอง แม้ว่าไฟล์นั้น ๆ จะมีนามสกุลที่เรารู้จักคุ้นเคยดีก็ตาม เพราะไฟล์ติดตั้งโปรแกรมไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ อาจถูกดัดแปลงชื่อไฟล์ และนามสกุลไฟล์ที่แสดงให้ดูเหมือนไฟล์ใช้งานทั่ว ๆ ไปได้เช่นกัน
ไฟล์ที่ผ่านการบีบอัดไว้โดยบุคคลอื่น แม้ว่าการบีบอัดไฟล์จะถือว่าเป็นเรื่องปกติในการใช้งานอุปกรณ์ไอที และแก็ดเจ็ตสำหรับจัดเก็บไฟล์ต่าง ๆ เพื่อประหยัดพื้นที่ใช้งาน แต่การจัดเก็บไฟล์ที่ผ่านการบีบอัดโดยบุคคลอื่นลงบนแฟลชไดร์ฟของเราก็ถือว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องระมัดระวังตรวจเช็คให้ดี เพราะไฟล์ติดตั้งไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ อาจแฝงรวมอยู่ในไฟล์ที่ผ่านการบีบอัดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไฟล์นั้น ๆ ผ่านการบีบอัดโดยซอฟต์แวร์ฟรีต่าง ๆ ที่มาจากแหล่งดาวน์โหลดที่ไม่น่าเชื่อถือ
หากคุณกำลังมองหาของพรีเมี่ยมเพื่อแจกในงานต่าง ๆ แฟลชไดร์ฟก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เหมาะแก่การทำ Gift Set เป็นสิ่งที่ใช้งานได้จริง รับรองว่าผู้ที่ได้รับจะประทับใจ