วิธีตรวจเช็คสเปคแฟลชไดร์ฟ ให้ได้แบบที่ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานมากที่สุด
ในการเลือกซื้ออุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป สมาร์ทโฟน แน่นอนว่าหลายคนทราบดีอยู่แล้วว่าสิ่งสำคัญก็คือการตรวจเช็คสเปค หรือคุณสมบัติของอุปกรณ์นั้น ๆ ว่ามีความเหมาะสมกับความต้องการใช้งานของเราหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การเช็คพื้นที่จัดเก็บข้อมูล(Rom) ว่ามีขนาดเท่าไหร่ ชนิดของชิป CPU หรือความเร็วของชิป ขนาดของหน่วยความจำแบบสุ่ม(Ram) เป็นต้น ซึ่งสเปคเหล่านี้จะสามารถบอกได้ว่าอุปกรณ์นั้นๆ ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของเราหรือไม่ เพียงพอต่อการจัดเก็บข้อมูล หรือมีความเร็วในการทำงานพอที่จะรองรับการใช้งานโปรแกรม และแอพพลิเคชั่นที่เราต้องการใช้งานหรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ทราบกันดีและใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์ตัดสินใจเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนกันอยู่แล้ว แต่ทว่าเมื่อพูดถึงแก็ดเจ็ต หรืออุปกรณ์เสริมที่ใช้งานควบคู่กับอุปกรณ์ไอทีดังกล่าว ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลพกพาอย่างแฟลชไดร์ฟ ไม่ว่าจะเป็นแฟลชไดร์ฟรูปแบบไหน เช่น แฟลชไดร์ฟไม้ แฟลชไดร์ฟโลหะ แฟลชไดร์ฟปากกา ผู้ใช้งานหลายคนกลับมองข้ามเรื่องการตรวจเช็คสเปคต่าง ๆ ของตัวแก็ดเจ็ตไป โดยมักตัดสินใจเลือกจากขนาดความจุ หรือพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแก็ดเจ็ตอย่างแฟลชไดร์ฟก็มีคุณสมบัติพื้นฐานหลายส่วนที่ทางแบรนด์ผู้ผลิตเลือกใส่เข้ามาแตกต่างกันและส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานของเราโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแก็ดเจ็ตเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ที่รองรับการใช้งานได้กับหลากหลายอุปกรณ์ ก็ย่อมมีรายละเอียดสเปคให้เราต้องตรวจเช็คมากขึ้นตามไปด้วย ในบทความนี้จึงจะมาแนะนำวิธีตรวจเช็คสเปคแก็ดเจ็ตอย่างแฟลชไดร์ฟว่ามีจุดไหน ส่วนไหนบ้างนอกเหนือจากขนาดความจุที่เราต้องตรวจดูเพิ่มเติม เพื่อจะทราบได้ว่าแฟลชไดร์ฟตัวนั้น ๆ ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของเราหรือไม่
เวอร์ชั่นของพอร์ต USB แฟลชไดร์ฟเป็นแก็ดเจ็ตจัดเก็บข้อมูลที่อาศัยการเชื่อมต่อ รับส่งข้อมูลผ่านพอร์ต USB ดังนั้นหนึ่งในสเปคส่วนที่เราต้องตรวจเช็คก็คือเวอร์ชั่นของพอร์ต USB ที่ทางผู้ผลิตใส่มาในแฟลชไดร์ฟรุ่นนั้น ๆ นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งเป็นเวอร์ชั่นใหม่มากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลก็ย่อมมีมากตามไปด้วย โดยเวอร์ชั่นล่าสุดของพอร์ต USB ก็คือเวอร์ชั่น 3.2 ดังนั้นหากจะให้แนะนำสเปคส่วนนี้ก็คงต้องบอกว่า จะให้ดีก็ควรเลือกแฟลชไดร์ฟรุ่นที่มาพร้อม USB 3.2 เลยนั่นเอง
Type ของ USB สเปคส่วนต่อมาที่ต้องตรวจเช็คให้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องการนำแฟลชไดร์ฟไปใช้งานกับหลายอุปกรณ์ก็คือในส่วนของ Type หรือลักษณะของพอร์ตเชื่อมต่อนั่นเอง เพราะปัจจุบันแบรนด์ผู้ผลิตแก็ดเจ็ตเจ้าต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาพอร์ตการเชื่อมต่อให้รองรับพอร์ตเจเนเรชั่นใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนเช่นกัน พูดกันง่าย ๆ ก็คือแฟลชไดร์ฟที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบันนั้นไม่ได้มีแค่พอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB-A แล้วนั่นเอง แต่ยังมีพอร์ตแบบ USB Type C, Lightning อีกด้วย ผู้ใช้งานจึงต้องเลือกให้ถูกต้อง แมตช์กับอุปกรณ์ที่ต้องการนำไปเชื่อมต่อ ตัวอย่างเช่น หากต้องการนำไปเสียบใช้งานร่วมกับไอโฟน หรือไอแพดเจนฯเดิม ๆ ก็ควรเลือกแฟลชไดร์ฟที่มีพอร์ต Lightning มาให้ด้วย
ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล อย่างที่ทราบกันดีว่าแฟลชไดร์ฟเป็นแก็ดเจ็ตที่ใช้สำหรับเก็บข้อมูล โอนย้ายไฟล์ต่าง ๆ ระหว่างอุปกรณ์ ดังนั้นสเปคส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อประสบการณ์ใช้งานของเราโดยตรงจึงเป็นความเร็วในการรับส่งข้อมูลนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันสเปคส่วนนี้แบรนด์ผู้ผลิตแฟลชไดร์ฟหลายแบรนด์ก็ระบุเป็นตัวเลขมาให้เราชัดเจน โดยมีตั้งแต่ 50 Mbps(Megabit Per Second) ไปจนถึงหลัก 1000 Mbps ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขส่วนนี้ยิ่งเยอะก็ยิ่งดี โดยหมายถึงปริมาณข้อมูลที่สามารถส่งได้ต่อหนึ่งวินาทีนั่นเอง