แฟลชไดร์ฟ กับคลาวด์ เลือกใช้อะไรดีกว่ากัน?
ถ้าจะนึกถึงเครื่องมือช่วยในการบันทึก จัดเก็บ และโอนถ่ายข้อมูลในปัจจุบัน แน่นอนว่าโดยส่วนใหญ่แล้วหลายคนมักจะนึกถึงตัวช่วยประเภทแก็ดเจ็ตที่มีความเป็นส่วนตัวในการบันทึกจัดเก็บไฟล์ข้อมูลใดๆ อย่างแฟลชไดร์ฟ หรือ External Harddisk, External SSD ซึ่งถือเป็นแก็ดเจ็ตที่เป็นคุ้นเคยกันในแวดวงไอทีมานานหลายสิบปีแล้ว โดยข้อดีของแก็ดเจ็ตเหล่านี้ก็คือความสะดวกในการจัดเก็บ มีให้เลือกใช้หลายรูปทรงตามความสะดวก เช่น แฟลชไดร์ฟการ์ด แฟลชไดร์ฟปากกา แฟลชไดร์ฟทวิสเตอร์ บันทึกข้อมูลได้อย่างอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาระบบออนไลน์ หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ต และค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัวเพราะข้อมูลจะถูกบันทึกไว้แค่ในตัวแฟลชไดร์ฟ หรือไดร์ฟนั้นๆ ตราบที่เราไม่ได้ส่งต่อตัวแก็ดเจ็ตไปให้ใครหยิบยืมใช้งานต่อ ความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลก็แทบจะเป็น 100% อย่างไรก็ตามช่วงหลายปีหลังมานี้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตถือว่าเข้ามามีบทบาทกับวิถีของคนส่วนใหญ่มากขึ้น การแชร์ หรือแบ่งปันไฟล์ข้อมูลใดๆ ผ่านเครือข่ายต่างๆ ก็มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด บรรดาผู้พัฒนาระบบเครือข่ายต่างๆ จึงมีการคิดค้นพัฒนาระบบคลาวด์(Cloud Computing) ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการบันทึก จัดเก็บ รวมถึงแชร์ไฟล์ข้อมูลใดๆ แก่บุคคล หรือกลุ่มคนที่ต้องการได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วในช่วงไม่กี่ปีหลังระบบคลาวด์ก็ถือว่าได้รับความนิยมในการใช้งานเป็นพื้นที่จัดเก็บไฟล์ แชร์กิจกรรมการทำงานต่างๆ ของกลุ่มบุคคล องค์กรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อดีของการใช้คลาวด์ในการจัดเก็บ และแชร์ไฟล์ข้อมูลก็คือ ทำให้เราไม่ต้องยุ่งยากกับการพกพาแก็ดเจ็ตเสริมอย่างแฟลชไดร์ฟ หรือไดร์ฟภายนอกอื่นใด โดยคลาวด์จะเป็นเสมือน Hosting กลางที่รองรับข้อมูลที่เราบันทึกไว้ และสามารถเข้าถึงได้ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และขั้นตอนตรวจสอบความปลอดภัยด้วย Username และ Password
จะเห็นได้ว่าระบบคลาวด์ในปัจจุบันถือว่าเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกตัวช่วยในการจัดเก็บ และโอนถ่ายข้อมูลต่างๆ ที่สามารถใช้แทนแก็ดเจ็ตจัดเก็บข้อมูลออฟไลน์แต่ละแบบได้ จึงทำให้ผู้ใช้งานหลายคนรู้สึกสงสัยว่าการใช้แก็ดเจ็ตออฟไลน์อย่างแฟลชไดร์ฟ กับการใช้ระบบออนไลน์อย่างคลาวด์ในการช่วยจัดเก็บ และจัดการข้อมูลของเรานั้นแบบไหนดีกว่ากัน และมีข้อดี ข้อเสียต่างกันอย่างไร ในบทความนี้จึงจะมากล่าวกันถึงข้อดีข้อเสีย และความเหมาะสมในการเลือกใช้งานตัวช่วยจัดเก็บข้อมูลทั้งสองแบบให้ได้ทราบกัน
แฟลชไดร์ฟมีความเป็นส่วนตัวในการเข้าถึง ใช้งานข้อมูลมากกว่า ความแตกต่างอย่างแรกที่ดูจะเป็นข้อดีพื้นฐานที่ติดมากับแก็ดเจ็ตประเภทออฟไลน์เสมอก็คือ ความเป็นส่วนตัวนั่นเอง กล่าวคือการใช้งานแฟลชไดร์ฟในการจัดเก็บ บันทึก และโอนย้ายไฟล์ข้อมูลใดๆ นั้นสามารถมั่นใจเรื่องของความเป็นส่วนตัวได้มากกว่า เพราะข้อมูลที่ถูกบันทึก หรือเซฟไว้บนแฟลชไดร์ฟของเราจะไม่สามารถเข้าถึงได้โดยผู้ดูแลระบบ หรือบุคคลใดที่จดจำ Username และ Password เราไปใช้งาน
แฟลชไดร์ฟใช้วิธีการแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลแบบไดเรค อย่างที่หลายคุ้นเคยกันดีว่าการโอนย้ายข้อมูลด้วยแฟลชไดร์ฟจะเป็นลักษณะของการคัดลอก หรือย้ายไฟล์จากอุปกรณ์ใดๆ มาบันทึกลงไว้บนตัวแฟลชไดร์ฟก่อน จากนั้นจึงค่อยนำตัวไดร์ฟไปเสียบเข้ากับอุปกรณ์ใดๆ ที่เราต้องการนำข้อมูลดังกล่าวใส่ลงไปเพื่อใช้งาน แล้วทำการก๊อปปี้ หรือย้ายไฟล์ลงไปอีกที จะเห็นได้ว่าวิธีนี้ค่อนข้างมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนอุปกรณ์ หรือบุคคลที่เราต้องการแชร์ข้อมูลด้วย และเวลาที่ใช้ในการส่งต่อ เคลื่อนย้ายข้อมูล ขณะที่ระบบคลาวด์นั้นเป็นการอาศัยเครือข่ายอินเตอร์(หรืออาจเป็นเครือข่ายรูปแบบอื่นๆ สำหรับคลาวด์ที่จำกัดความเป็นส่วนตัวในการใช้งานเฉพาะภายในพื้นที่ใดพื้นที่นึง) ในการอัพโหลดข้อมูลมาเก็บไว้ ดังนั้นการแบ่งปัน เข้าถึงข้อมูลนั้นๆ จึงสามารถทำพร้อมกันได้จากหลายบุคคล หลายอุปกรณ์ ดังนั้นจึงพอสรุปง่ายๆ ได้ว่าแฟลชไดร์ฟเหมาะสำหรับการส่งต่อ เคลื่อนย้ายข้อมูลที่จำกัดการใช้งานร่วมกันเพียงไม่กี่คน ไม่กี่อุปกรณ์ ส่วนคลาวด์นั้นสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการแชร์ ส่งต่อข้อมูลที่มีความต้องการใช้งานร่วมกันสำหรับกลุ่มคนจำนวนมาก แต่ก็ยังคงจำกัดความเป็นส่วนตัวในการเข้าถึงไว้ระดับนึง ตัวอย่างลักษณะการใช้งานที่เหมาะสม เช่น ไฟล์งานที่จำเป็นต้องใช้งานสำหรับบุคลากร หรือพนักงานในบริษัททุกคน แต่ไม่จำเป็นต้องเผยแพร่ให้บุคคลภายนอกรับรู้ เป็นต้น