แฟลชไดร์ฟยังจำเป็นอยู่ไหม? ในยุคที่มี SSD แบบพกพา
อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลพกพานั้นถือเป็นแก็ดเจ็ตชิ้นนึงที่อยู่คู่กับแวดวงไอทีมาตลอดนับตั้งแต่มีการเริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์ในหมู่ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และบุคคลทั่วไป เพื่อตอบสนองกิจกรรมโอนถ่าย เคลื่อนย้าย คัดลอกไฟล์ข้อมูลดิจิทัลต่างๆ ของผู้ใช้งาน โดยที่นวัตกรรมและเทคนิคการผลิตแก็ดเจ็ตจัดเก็บข้อมูลพกพานั้นก็ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่กับการพัฒนาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความเร็วในการเขียน อ่านข้อมูล และปริมาณ หรือขนาดข้อมูลที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับแก็ดเจ็ตอย่างแฟลชไดร์ฟ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบพกพาขนาดกะทัดรัดที่มีการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งความเร็วในการเขียน อ่านข้อมูลที่สูงขึ้นตามเวอร์ชั่นของพอร์ตเชื่อมต่อ USB-A และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่เริ่มต้นด้วยความจุเพียงหลักเมกะไบต์ จนมาถึงระดับเทราไบต์ในปัจจุบัน รวมไปถึงรูปร่างและวัสดุมีทั้งแบบแฟลชไดร์ฟโลหะ แฟลชไดร์ฟไม้ และแฟลชไดร์ฟยาง อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากแฟลชไดร์ฟแล้ว ปัจจุบันยังมีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลพกพาอีกแบบที่ถูกพัฒนาขึ้นมาและดูเหมือนว่ากำลังจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ใช้งาน ซึ่งก็คือ External SSD (External Solid State Drive) การมาของ SSD แบบพกพาทำให้หลายคนมองว่าอาจเป็นการเข้ามาแทนที่แก็ดเจ็ตอย่างแฟลชไดร์ฟ ที่ดูจะมีประสิทธิภาพการใช้งานต่ำกว่า หลายคนที่กำลังมองหาแก็ดเจ็ตจัดเก็บข้อมูลชิ้นใหม่มาใช้งานอยู่ จึงอาจรู้สึกชั่งใจว่าควรเลือกซื้อแฟลชไดร์ฟที่คุ้นเคย หรือควรตัดสินใจซื้อ External SSD ที่น่าจะรองรับการใช้งานในระยะยาวได้ดีกว่า ในบทความนี้จึงได้นำเอาข้อมูลของแก็ดเจ็ตทั้งสองตัวมาแนะนำให้ได้ทราบกันว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร และการมาของ SSD จะเป็นการมาแทนที่แฟลชไดร์ฟอย่างที่หลายคนคาดไว้หรือไม่
แฟลชไดร์ฟ กับ SSD มีจุดประสงค์ในการพัฒนาต่างกัน แม้ว่าผู้ใช้งานหลายคนจะมองว่า External SSD มีประสิทธิภาพในการใช้งานเป็นแก็ดเจ็ตบันทึกข้อมูลแบบพกพาสูงกว่าแฟลชไดร์ฟ หรือทรัมไดร์ฟ แต่ที่จริงแล้วจุดประสงค์ในการพัฒนาของ SSD นั้นคือการใช้เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลร่วมกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือแล็ปท็อป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานอุปกรณ์นั้นๆ หรือพูดกันง่ายๆ ก็คือ SSD ถูกพัฒนาขึ้นมาแทนที่ HHD หรือฮาร์ดดิสก์นั่นเอง ทั้งนี้ HHD ถือว่ามีข้อจำกัดเรื่องของความเร็วในการอ่าน เขียนข้อมููลเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เนื่องจากต้องอาศัยแรงหมุนของมอเตอร์ขับเคลื่อนการทำงาน จึงได้มีการพัฒนา SSD ซึ่งสามารถอ่าน เขียนข้อมูลโดยอาศัยแผงวงจร และคำสั่งที่อยู่บนชิปแทน ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานซอฟต์แวร์ต่างๆ บนคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้น ขณะที่แฟลชไดร์ฟเป็นแก็ดเจ็ตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้อุปกรณ์จัดเก็บ โอนย้ายข้อมูลแบบพกพาโดยตรงอยู่แล้ว จึงมาพร้อมกับดีไซน์ และขนาดของแผงชิปที่กะทัดรัด
External SSD ยังมีข้อจำกัดเรื่องของราคา และขนาด แม้ว่าโดยนวัตกรรมที่ใช้ในการผลิต SSD และแฟลชไดร์ฟจะเป็นไทป์เดียวกัน หรืออาศัยคำสั่งการทำงานที่อยู่บนแผงชิป ซึ่งช่วยให้อ่าน เขียนข้อมูลได้รวดเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์เหมือนกัน จนทำให้ผู้ใช้งานหลายคนมองว่าการลงทุนซื้อ External SSD มาใช้งานแทนน่าจะคุ้มกว่า แต่อย่างที่ทราบกันตามกล่าวข้างต้นแล้วว่าสเกลการพัฒนาของแก็ดเจ็ตทั้งสองตัวแตกต่างกันชัดเจน SSD ถูกพัฒนาขึ้นมาให้รองรับการใช้งานอ่าน เขียนข้อมูลร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแล็ปท็อป แต่ก็สามารถปรับใช้งานเป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายนอกได้ แต่แฟลชไดร์ฟนั้นถูกพัฒนามาเพื่อใช้เป็นเพียงอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอก หรือจัดเก็บข้อมูลแบบพกพาเท่านั้น ดังนั้น External SSD ย่อมตามมาด้วยข้อจำกัดเรื่องของขนาด น้ำหนัก และราคาที่สูงกว่านั่นเอง หรือกล่าวสรุปได้ว่าแฟลชไดร์ฟยังคงเป็นแก็ดเจ็ตที่มีประโยชน์และเหมาะสำหรับการใช้งานจัดเก็บข้อมูลพกพา โอนย้าย คัดลอกไฟล์ข้อมูลต่างๆ ขณะที่ External SSD แม้จะมีประสิทธิภาพการอ่าน เขียนข้อมูลที่รวดเร็วกว่า แต่ก็ตามมาด้วยข้อจำกัด และความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความไม่สะดวกในการพกพา ความเสี่ยงที่ข้อมูลจะเสียหายในปริมาณที่มากกว่าจากขนาดพื้นที่จัดเก็บที่ใหญ่กว่า งบในการซ่อมแซม หรือซื้อตัวใหม่ที่สูงกว่า เป็นต้น