แฟลชไดร์ฟ กับ SSD

แฟลชไดร์ฟ กับ SSD ต่างกันอย่างไร ควรเลือกใช้แบบไหน?

เมื่อพูดถึงอุปกรณ์สำหรับบันทึก หรือจัดเก็บข้อมูล แน่นอนว่าหลายคนย่อมรู้จักคุ้นเคยกับแฟลชไดร์ฟ หรือทรัมไดร์ฟเป็นอย่างดี เพราะถือเป็นแก็ดเจ็ตที่ใช้งานได้อย่างสะดวก มีราคาถูก มีหลายแบบหลายรูปทรง เช่น แฟลชไดร์ฟยาง แฟลชไดร์ฟไม้ แฟลชไดร์ฟปากกา แฟลชไดร์ฟการ์ด แฟลชไดร์ฟคริสตัล และเป็นที่นิยมกันมาตลอดช่วงหลายสิบปีผ่านมา ว่ากันง่ายๆ ก็คือนับตั้งแต่เปลี่ยนผ่านจากยุคของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอย่าง Floppy Disk เราต่างก็คุ้นเคยกับการใช้งานแฟลชไดร์ฟสำหรับเก็บไฟล์งานที่เกี่ยวข้องกับการเรียน หรือการทำงานมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทิศทางการพัฒนาอุปกรณ์ไอทีมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้มีทางเลือกในการใช้งานแก็ดเจ็ต หรืออุปกรณ์ใดๆ สำหรับจัดเก็บข้อมูลมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้หน่วยความจำที่ติดมากับอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต, การใช้ระบบคลาวด์ที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการบันทึก แชร์ หรือเคลื่อนย้ายไฟล์งาน แต่ทางเลือกนึงที่ดูจะมีความคล้ายคลึงกับการใช้งานแฟลชไดร์ฟมากที่สุดก็คือการใช้ SSD นั่นเอง

ทั้งนี้ SSD ถืออุปกรณ์บันทึก จัดเก็บข้อมูลที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาแทนที่ Harddisk กล่าวคือมันถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้งานเป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลหลักบนอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือแล็ปท็อปนั่นเอง แต่นอกเหนือจากประโยชน์การใช้งานดังกล่าวแล้ว มันก็ยังถูกพัฒนาดัดแปลงให้เอื้อต่อการใช้งานเป็นแก็ดเจ็ตจัดเก็บข้อมูลแบบพกพา หรือที่เรียกกันว่า External Harddisk, External SSD ซึ่งเป็นเหมือนตัวไดร์ฟที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ใดๆ ได้อย่างอิสระนั่นเอง และก็ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เริ่มมีความนิยมใช้งาน SSD แทนแฟลชไดร์ฟ ในบทความนี้จึงจะมาอธิบายให้ได้ทราบกันว่าอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลทั้งสองแบบนั้นแตกต่างกันอย่างไร และเราควรเลือกใช้งานแฟลชไดร์ฟ หรือ SSD มากกว่ากัน

โดยมาตรฐานแล้ว SSD มีประสิทธิภาพการทำงานสูงกว่าแฟลชไดร์ฟ อย่างที่ทราบดังกล่าวข้างต้นว่า SSD เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้งานเป็นหน่วยความจำหลักให้คอมพิวเตอร์ ดังนั้นประสิทธิภาพในการเรียกอ่านข้อมูล เขียน โอนถ่าย ส่งต่อย่อมสูงกว่าแฟลชไดร์ฟ หรือยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันง่ายๆ ได้ว่า แฟลชไดร์ฟมีความสามารถในการอ่านข้อมูล รับส่งข้อมูลอยู่ที่ระดับ 10 – 100 Mb ต่อวินาที ขณะที่ External SSD มีความสามารถในการอ่าน และรับส่งข้อมูลสูงถึงกว่า 1,000 Mb ต่อวินาที

ความแตกต่างในการใช้งานจริง หากอ้างอิงกันตามตัวเลขที่ยกตัวอย่างในข้อที่ผ่านมา หลายคนอาจรู้สึกว่าประสิทธิภาพของ SSD สูงกว่าแฟลชไดร์ฟมาก และควรเลือกใช้ External SSD เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลพกพาแทนที่แฟลชไดร์ฟ ทว่าในการใช้งานจริง ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน และลักษณะของไฟล์ข้อมูลมากกว่า กล่าวคือหากเป็นไฟล์งานทั่วไปที่ขนาดไฟล์ไม่ใหญ่มาก ความแตกต่างในเรื่องของระยะเวลาในการอ่านข้อมูล รับ ส่งไฟล์ที่เกิดขึ้นจริงก็จะไม่แตกต่างกันมากนัก ว่ากันง่ายๆ ก็คือหากไฟล์งานที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1 Gb ขึ้นไป ประสิทธิภาพในการอ่าน และรับส่งข้อมูลของแฟลชไดร์ฟ USB 3.0 ขึ้นไปก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว

ราคา และความจุเริ่มต้น อีกหนึ่งความแตกต่างที่เป็นรูปธรรมและหลายคนควรใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินเลือกใช้งานอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลทั้งสองแบบก็แน่นอนว่าเป็นเรื่องของราคานั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าอุปกรณ์อย่าง External SSD ย่อมมีราคาจำหน่ายเริ่มต้นสูงกว่า และมาพร้อมกับความจุเริ่มต้นตั้งแต่ 128 Gb ขึ้นไป โดยมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ราว 1,000 บาทขึ้นไป ขณะที่แฟลชไดร์ฟมีราคาเริ่มต้นเพียงแค่หลักร้อยบาทต้นๆ เท่านั้น และมีระดับความจุให้เลือกอย่างยืดหยุ่นเหมาะสมกับความต้องการใช้งานของแต่ละคนมากกว่า(มีความจุต่ำกว่า 64 Gb ให้เลือกใช้)

Leave Comment