แฟลชไดร์ฟ กับเมมโมรี่การ์ดแตกต่างกันอย่างไร ควรเลือกใช้แบบไหน?
ถ้าพูดถึงแก็ดเจ็ตสำหรับจัดเก็บข้อมูลแบบพกพาขนาดเล็ก แน่นอนว่านอกจากแฟลชไดร์ฟ หรือ USB Thumb Drive แล้ว ก็ยังมีเมมโมรี่การ์ด หรือ SD Card อีกหนึ่งตัวที่หลายคนน่าจะพอคุ้นเคย และเคยผ่านประสบการณ์ใช้งานกันมาบ้างแล้ว เพราะหากย้อนกลับไปช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เมมโมรี่การ์ดก็ถือเป็นแก็ดเจ็ตหน่วยความจำขนาดพกพาที่อยู่คู่กับอุปกรณ์ไอทีหลากหลายไทป์มาตลอด ไม่ว่าจะเป็น กล้องดิจิทัล โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป ซึ่งหน้าที่ หรือประโยชน์ที่ผู้ใช้งานได้รับจากแก็ดเจ็ตตัวนี้ก็คือการบันทึก จัดเก็บข้อมูล โอนย้ายไฟล์ข้อมูลต่างๆ เช่นเดียวแฟลชไดร์ฟ เรียกว่าหากมองกันที่ประโยชน์การใช้งานก็แทบแยกความต่างของแก็ดเจ็ตทั้งสองชิ้นไม่ออก แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ด้วยสถาปัตยกรรมการผลิตที่แตกต่างกันก็ทำให้แก็ดเจ็ตทั้งสองตัวมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน และมีลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมต่างกันออกไปด้วย ซึ่งในบทความนี้เองจะมาอธิบายให้ได้ทราบกันว่าเมมโมรี่การ์ด หรือ SD Card กับ USB Flash Drive นั้นต่างกันอย่างไร และเราควรเลือกใช้แบบไหน
ขนาด และพอร์ตเชื่อมต่อที่ต่างกัน ความแตกต่างที่ชัดเจนอย่างแรกของเมมโมรี่การ์ด และแฟลชไดร์ฟ แม้ว่าแก็ดเจ็ตทั้งสองตัวจะเป็นไอเทมจัดเก็บข้อมูลแบบพกพาเหมือนกันก็คือ ขนาด และพอร์ตการเชื่อม ซึ่งเมมโมรี่การ์ดมีขนาดที่เล็กกว่าแฟลชไดร์ฟ และใช้วิธีเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยการสัมผัสแผ่วขั้วโลหะบนการ์ดโดยตรง ขณะที่แฟลชไดร์ฟมาพร้อมพอร์ต USB Type A เวอร์ชั่นต่างๆ ซึ่งจากความแตกต่างดังกล่าวนี้ ทำให้สรุปได้ว่าสถาปัตยกรรมการผลิตของเมมโมรี่การ์ดนั้นต้องการตอบสนองการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์พกพาอื่นๆ ในลักษณะของการใช้ร่วมกัน เช่น สำหรับเสียบติดไว้กับกล้องดิจิทัลเพื่อใช้เป็นหน่วยความจำในการจัดเก็บ บันทึกภาพที่ถ่ายจากกล้องตัวนั้นๆ, ใช้สำหรับเสียบติดไว้กับสมาร์ทโฟน เพื่อเพิ่มพื้นที่จัดเก็บข้อมูลให้สมาร์ทโฟนเครื่องนั้นๆ โดยที่หากต้องการโอนย้ายข้อมูล หรือส่งต่อ ก๊อปปี้ไฟล์ข้อมูลใดๆ ก็สามารถทำได้สะดวกด้วยการถอดเมมโมรี่การ์ดออกมา ขณะที่ USB Flash Drive มีสถาปัตยกรรมการผลิตที่สร้างให้ตัวแก็ดเจ็ตเป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลในตัวเอง ไม่ใช่ลักษณะของการเชื่อมต่อเพื่อใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นอยู่ตลอดเวลา เน้นตอบสนองการใช้งานลักษณะของการสำรองข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ก๊อปปี้ไฟล์ข้อมูลสำคัญๆ จากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็ปท็อปเพื่อป้องกันการสูญหาย และใช้เป็นตัวกลางในการโอนย้ายข้อมูลระหว่างอุปกรณ์เป็นครั้งคราว
ความเร็วในการอ่าน เขียนข้อมูล อีกจุดนึงที่ในความรู้สึกของผู้ใช้งานทั่วไปอาจสัมผัสถึงความแตกต่างได้ยากก็คือ ความเร็วในการอ่านเขียน ข้อมูล หรือก็คือความเร็วในการเรียกดู รับ บันทึก ส่งต่อข้อมูล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วความเร็วในการเรียกเปิดไฟล์ต่างๆ ของแฟลชไดร์ฟ กับเมมโมรี่การ์ดจะไม่แตกต่างกัน ขณะที่ความเร็วในการบันทึกข้อมูลโดยเฉลี่ยเมมโมรี่การ์ด หรือ SD Card จะรวดเร็วกว่าเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเวอร์ชั่นของพอร์ตเชื่อมต่อด้วย ตัวอย่างเช่น หากนำเอาแฟลชไดร์ฟที่มีพอร์ตเชื่อมต่อเป็นเวอร์ชั่นหลังๆ เช่น USB 3.1 ไปเปรียบเทียบกับเมมโมรี่การ์ดเจนก่อนๆ ที่ถูกผลิตออกมาวางจำหน่ายตั้งแต่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ความเร็วในการเขียน หรือบันทึกข้อมูลก็อาจอยู่ในระดับเดียวกัน หรือแฟลชไดร์ฟอาจเขียนได้รวดเร็วกว่าด้วยซ้ำ
ความทนทาน ความแตกต่างเล็กๆ อีกจุดนึงของแก็ดเจ็ตทั้งสองตัวในแง่ของประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้งานก็คือ ความทนทาน หรืออายุการใช้งาน ซึ่งหลายคนรู้สึกว่าแฟลชไดร์ฟดูจะมีความแข็งแรงทนทานมากกว่า ขณะที่เมมโมรี่การ์ดนั้นมีขนาดเล็ก และบอบบางเกินไป เสี่ยงที่จะชำรุด หรือสูญหายได้ง่าย ทั้งนี้หากอธิบายตามหลักการทำงานแล้วก็ต้องบอกว่าเมมโมรี่การ์ดมีความอ่อนไหวต่อปัญหาจุกจิกที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้งานมากกว่าแฟลชไดร์ฟอยู่เล็กน้อย เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าพอร์ตเชื่อมต่อของเมมโมรี่การ์ดเป็นลักษณะของการสัมผัสแผ่นขั้วโลหะบนตัวการ์ดโดยตรง ซึ่งหากตัวอ่านการ์ด หรือ Card Reader ที่เราเสียบเชื่อมต่อด้วยนั้นมีปัจจัยรบกวน เช่น ฝุ่น หรือสิ่งสกปรกใดๆ เปรอะเปื้อนอยู่เป็นเวลานาน ก็อาจทำให้การอ่านข้อมูลไม่สำเร็จ ขณะที่แฟลชไดร์ฟมากับพอร์ตเชื่อมต่อ USB-A ที่ไม่ได้เผยขั้วโลหะไว้ด้านนอก จึงโพรเทคปัจจัยรบกวนต่างๆ ได้ดีกว่า
ซึ่งในปัจจุบัน มีแฟลชไดร์ฟให้เลือกใช้หลายรูปแบบรูปทรง เพราะมีการพัฒนาให้เกิดความน่าสนใจทางการตลาด ทำให้แฟลชไดร์ฟสมัยนี้มีทั้งแบบที่เป็น แฟลชไดร์ฟไม้ แฟลชไดร์ฟโลหะ หรือจะออกแบบรูปทรงให้ดูน่าสนใจมากขึ้นพกพาง่ายขึ้น เช่น แฟลชไดร์ฟปากกา แฟลชไดร์การ์ด รวมไปถึงแฟลชไดร์ฟที่เพิ่มความหรูหราอย่างแฟลชไดร์ฟคริสตัลอีกด้วย