แฟลชไดร์ฟมีอายุการใช้งานนานแค่ไหน ควรเปลี่ยนเมื่อไหร่?
อย่างที่ทราบกันดีว่าแฟลชไดร์ฟถือเป็นแก็ดเจ็ตไอทีชิ้นนึงที่จำเป็นสำหรับกิจกรรมการทำงานของใครหลายคนมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์สำหรับพกพา โอนย้ายข้อมูลยอดนิยมอันดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ เนื่องจากดีไซน์ของตัวแก็ดเจ็ตมีความกะทัดรัด พกพาสะดวก เช่น แฟลชไดร์ฟทวิสเตอร์ แฟลชไดร์ฟปากกา หรือแฟลชไดร์ฟโลโหะรูปทรงน่ารัก และมีวิธีใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ทว่าขณะเดียวกันการใช้งานแฟลชไดร์ฟก็มักตามมาด้วยปัญหาจุกจิกหลายอย่างเช่น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือปัญหาแฟลชไดร์ฟชำรุด หรือเสียจนไม่สามารถใช้งานต่อไป เปิดไฟล์ข้อมูลใดๆ ที่บันทึกไว้ไม่ได้ ซึ่งหากเป็นกรณีปัญหาที่เกิดกับซอฟท์แวร์ หรือชุดคำสั่งที่คอยรันการทำงานของตัวไดร์ฟอยู่ก็อาจจะมีแนวทางแก้ปัญหาหลากหลายที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง เช่น การสแกนไวรัส การตั้งค่านามสกุลไดร์ฟใหม่ เป็นต้น แต่บ่อยครั้งปัญหาก็เกิดขึ้นที่ตัวฮาร์ดแวร์ หรืออาการเสียของชิปที่อยู่ในตัวแฟลชไดร์ฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานไม่สามารถซ่อมแซมเองได้ และต้องเลือกแก้ปัญหาด้วยการซื้ออันใหม่มาใช้งานแทน
ทั้งนี้ปัญหาอาการเสียที่ตัวฮาร์ดแวร์สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้มีการใช้งานที่ผิดวิธี เพราะในทุกครั้งที่เราใช้งานตัวชิปจะมีการเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ ทีละนิด ในบทความนี้จึงจะมาอธิบายให้ได้ทราบกันถึงอายุการใช้งานของแก็ดเจ็ตชิ้นนี้ว่าโดยทั่วไปแล้วแฟลชไดร์ฟแต่ละรุ่น แต่ละแบรนด์น่าจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ และเราควรเปลี่ยนอันใหม่เมื่อไหร่
อายุการใช้งานขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งการเขียน ลบข้อมูล ลักษณะการทำงานของแฟลชไดร์ฟในการจัดเก็บ บันทึกข้อมูล จะเป็นการเขียนข้อมูลลงบนไดร์ฟซ้ำๆ ตัวอย่างเช่น หากเราบันทึกไฟล์ใดๆ ลงไป 1 ไฟล์ ก็เท่ากับการเขียน 1 ครั้ง และเมื่อเราทำการลบไฟล์ดังกล่าวทิ้งไป และบันทึกไฟล์ใหม่ลงไปแทนที่ก็เท่ากับมีการเขียนใหม่อีก 1 ครั้งทับตำแหน่งเดิม เท่ากับมีการเขียนรวมแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งจากการทดสอบการใช้งานเขียนข้อมูลลงซ้ำๆ ของแบรนด์ผู้ผลิตแก็ดเจ็ตหลายๆ แบรนด์พบว่า แฟลชไดร์ฟสามารถใช้งานเขียนข้อมูลซ้ำๆได้มากกว่า 10,000 ครั้งขึ้นไปจนถึงหลักแสนครั้ง จึงจะทำให้ฮาร์ดแวร์เสื่อมสภาพจนเขียนซ้ำต่อไม่ได้ ดังนั้นจึงสรุปได้ง่ายๆ ว่าแฟลชไดร์ฟควรจะมีอายุขั้นต่ำในการใช้งานอยู่ที่จำนวนครั้งการเขียน 10,000 ครั้งขึ้นไป แต่จำนวนการเขียนดังกล่าวนั้นจะตีเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้งานของแต่ละคน ซึ่งบางคนก็อาจเขียนครบหนึ่งหมื่นครั้งในระยะเวลาหนึ่งปี หรือบางคนอาจครบหนึ่งหมื่นครั้งในระยะเวลาสามปี เราจึงเห็นได้ว่าแฟลชไดร์ฟของผู้ใช้งานแต่ละคนเกิดอาการเสีย ชำรุดที่ฮาร์ดแวร์ในระยะเวลาที่แตกต่างกันไป บางคนอาจเสียตั้งแต่ใช้งานได้ไม่ถึงหนึ่งปี บางคนเสียหลังจากใช้งานไปได้ห้าปี เป็นต้น
ควรเปลี่ยนแฟลชไดร์ฟเมื่อไหร่ อย่างที่ทราบกันตามกล่าวข้างต้นว่าอายุการใช้งานของแก็ดเจ็ตชิ้นนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งในการเขียนลบข้อมูล นอกจากนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับคุณภาพวัสดุ และคุณภาพการผลิตของแต่ละแบรนด์อีกด้วย(วัสดุคุณภาพดี และกระบวนการผลิตคุณภาพสูง ย่อมทำให้แฟลชไดร์ฟตัวนั้นๆ สามารถเขียนข้อมูลในจำนวนครั้งที่มากกว่า) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะคำนวณระยะเวลาว่าควรจะเปลี่ยนอันใหม่เมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ป้องกันข้อมูลสูญหาย เราอาจอ้างอิงการใช้งานจากระยะเวลาการรับประกันของแต่ละแบรนด์ แต่ละยี่ห้อ ตัวอย่างเช่น บางแบรนด์รับประกัน 1 ปี บางแบรนด์รับประกัน 3 ปี ซึ่งหากครบระยะเวลาเหล่านี้ เมื่อเราใช้งานแฟลชไดร์ฟตัวนั้นๆ ในการจัดเก็บ โอนย้ายข้อมูลแต่ละครั้งก็ควรต้องทำการแบล็คอัพ หรือสำรองข้อมูลไว้ในอุปกรณ์อื่นด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ฮาร์ดแวร์แฟลชไดร์ฟอาจชำรุด เสียหายและทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่บันทึกไว้ได้